แนวทางการทำวิจัยด้านคริสตศาสนศาสตร์

มนุษย์ย่อมมีความอยากรู้อยากเห็นหรือสงสัยในเรื่องราวต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่รอบ ๆ ตัวเอง และปรากฏการณ์ในธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการแสวงหาคำตอบตามธรรมชาติ เช่น การสำรวจ การสืบเสาะ และการเรียนรู้ กลุ่มคำเหล่านี้จึงสามารถใช้แทนพฤติกรรมดังกล่าว เพราะด้วยความอยากรู้อยากเห็นนี้เอง ทำให้มนุษย์เกิดแรงผลักดันที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดจนสะสมความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเอาไว้อย่างเป็นระบบ และบางส่วนถูกพัฒนามาเป็นความรู้ที่เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น จนถือได้ว่าเป็นแรงจูงใจที่สำคัญเพื่อการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และแขนงวิชาอื่น ๆ ในการศึกษาของมนุษย์ ภายใต้กระบวนการศึกษาเพื่อแสวงหาคำตอบของมนุษย์เป็นประเด็นที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อหาข้อค้นพบที่นำมาใช้ในการบรรยาย อธิบาย คาดคะเน ดังนั้นมนุษย์จึงจำเป็นจะต้องมี “วิธีการ” ที่จะนำมาใช้แสวงหาข้อมูลที่นำมาพิจารณาวิเคราะห์และประเมินค่าเพื่อหาข้อสรุปหรือองค์ความรู้ร่วมกัน

ในกระบวนการดังกล่าวได้มีวิวัฒนาการต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นจากวิธีการที่ไม่มีระบบชัดเจน เช่น การลองผิดลองถูก การคาดเดาและตัดสินใจ เป็นต้น จนกระทั่งสู่ยุคปัจจุบันมนุษย์ได้พัฒนาวิธีการที่มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ทุกขั้นตอน โดยเรียกวิธีการนี้ว่า “การวิจัย” (Research) ซึ่งเป็นเป็นกระบวนการในการแสวงหาความรู้ความจริงของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการที่เป็นระบบ มีเหตุผล และมีความน่าเชื่อถือ เพราะเหตุนี้สังคมจึงยอมรับและให้ความเชื่อถือในข้อมูลที่เป็นผลของการศึกษาวิจัยมากกว่าข้อมูลข้อเท็จจริงทั่วไป (เทียนฉาย กีระนันทน์, 2541; สุชาติ  ประสิทธิ์รัฐสินธุ์, 2544; บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2540; Creswell, 2008)

แม้ว่าปรัชญาการแสวงหาความรู้ความจริงแบบดั้งเดิมโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่การปรับระบบความเชื่อพื้นฐานของนักวิจัยที่มีต่อการแสวงหาความรู้ในเวลาต่อมาทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ การวิจัยจึงไม่ได้อยู่ภายใต้ปรัชญาวิทยาศาสตร์อย่างเดียว กระบวนทัศน์การวิจัยของนักวิจัยจึงเป็นตัวเชื่อมโยงแนวคิดตามหลักปรัชญาการวิจัยกับวิธีวิทยาการวิจัยที่สมเหตุสมผล (สุวิมล ว่องวาณิช, 2563) ดังจะเห็นได้ว่าการวิจัยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความรู้ในยุคปัจจุบัน (Kogut, 2001) และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุคข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านกระบวนการวิจัยที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้องของวิธีการศึกษา (McGrath & Brinberg, 1983) ซึ่งความก้าวหน้าในวิธีวิทยาการวิจัยถูกพัฒนาอยู่เสมอ และถูกขับเคลื่อนโดยงานวิชาการในศาสตร์ทุกสาขาอย่างเป็นระบบจนเป็นที่ยอมรับ และมีประโยชน์ต่อการใช้ผลการวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนต่างนิยมใช้การวิจัยเป็นพื้นฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญ

ในปีการศึกษา 2563 คณะคริสตศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน ได้จัดตั้งชุมชนการปฏิบัติ (CoP) เพื่อศึกษาและการจัดการความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทำวิจัยด้านคริสศาสนศาสตร์ขึ้น ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับรูปแบบการทำวิจัยและแนวทางการทำวิจัย ผลของข้อสรุปในองค์ความรู้พบว่า รูปแบบการวิจัยทางด้านคริสตศาสนศาสตร์ มี 2 รูปแบบ คือ

  1. การทำวิจัยทางคริสตศาสนศาสตร์ ซึ่งมีขอบเขตการศึกษาค้นคว้าวิจัยรูปแบบเอกสาร (Documentary Research) ทางด้านพระคริสตธรรมคัมภีร์ เช่น การศึกษาหลักคำสอน บริบท ประวัติศาสตร์คริสตจักร ไวยากรณ์ภาษา วัฒนธรรม วรรณกรรม การอรรถวิเคราะห์อธิบายทางพระคัมภีร์ (Biblical Exegesis) รวมถึงการค้นหาความหมาย (Biblical Hermeneutics) เพื่อการประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจของคริสเตียนบนสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
  2. การวิจัยทางด้านพันธกิจคริสเตียน เป็นการศึกษาในเชิงประยุกต์ผ่านกระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Social Research) พฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) จากการค้นคว้าในองค์ความรู้ที่แฝงอยู่ในปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน คริสตจักร ชุมชน สถาบัน องค์กร หน่วยงาน และสังคมไทย เพื่อประยุกต์ใช้ วางแผน ประเมิน พัฒนาหรือแก้ไขปัญหา ตลอดจนการปรับปรุงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เรียกว่า “พันธกิจ” ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของคริสตจักรไทยที่จะนำองค์ความรู้ไปใช้ และเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอข้อมูลวิจัยที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเข้าใจง่าย

การศึกษาค้นคว้าวิจัยรูปแบบเอกสาร (Documentary Research) ในเชิงพระคัมภีร์ศึกษา (Biblical Studies) ควรมีแนวปฏิบัติดังนี้

  1. เลือกข้อพระธรรมที่เหมาะสมกับการทำวิจัย มักเป็นข้อพระธรรมที่อาจช่วยในการแก้ปัญหาความเข้าใจผิดทางด้านศาสนศาสตร์ หรือข้อพระธรรมคนมักตีความผิด ใช้ผิด หรือข้อพระธรรมที่เข้าใจยาก
  2. อ่านและศึกษาข้อพระธรรมตอนที่เลือก โดยทำการแปลความหมายจากภาษาเดิม (ถ้ามีความสามารถทางภาษา) หรือเปรียบเทียบคำแปลจากหลากหลายภาษาและเวอร์ชั่นต่าง ๆ
  3. ทำความเข้าใจความหมายของข้อพระธรรม ผ่านบริบทของพระธรรม ผ่านลักษณะวรรณกรรม เพื่อทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของผู้เขียนเป็นหลัก
  4. ศึกษาข้อโต้แย้งของนักวิชาการคนสำคัญ ถึงความหมายจากการตีความ โดยเฉพาะเมื่อข้อพระธรรมตอนนั้น ๆ อาจเปิดโอกาสให้ตีความได้หลายความหมาย แต่เราควรมีหลักการว่า ความหมายที่ชัดที่สุด เข้าใจง่ายที่สุดสำหรับผู้อ่านดั้งเดิม น่าจะใกล้เคียงความจริงที่สุด
  5. สรุปผลจากการตีความหมาย โดยเน้นที่จุดประสงค์ของผู้เขียนเป็นหลัก แล้วเราจึงมาสรุปผลทางด้านศาสนศาสตร์ หรือความเข้าใจภาพรวมในเรื่องที่ผู้เขียนกำลังสื่อ

รูปแบบการวิจัยทางด้านพันธกิจคริสเตียน เป็นการวิจัยทางสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ มักใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นพื้นฐานในการทำวิจัย ข้อมูลดังกล่าวมาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ เครื่องมือวัด เป็นต้น งานวิจัยควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำถาม ปัญหา และสมมติฐานที่มีความสำคัญ ควรมีความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซ้อนกับงานในอดีต และควรมุ่งอธิบายหรือแสดงข้อพิสูจน์เพื่อตอบคำถามหรือแก้ไขปัญหาขยายฐานความรู้ทางด้าน คริสตศาสนศาสตร์ผ่านการทำงานพันธกิจคริสเตียน ควรมีแนวปฏิบัติ ดังต่อไปนี้  

  1. ศึกษาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากคริสตจักร องค์กรคริสเตียน หน่วยงาน สังคมและชุมชน จากนั้นกำหนดปัญหาวิจัย คำถามการวิจัย วัตถุประสงค์การวิจัย ขอบเขตการวิจัย ทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ แนวคิดหรือทฤษฎี และงานวิจัยเพื่อกำหนดตัวแปรในการศึกษาวิจัย กรอบความคิดของการวิจัย
  2. ออกแบบการวิจัย เก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล ตามกระบวนทัศน์ อันได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยอาศัยข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) ที่สามารถแจกแจงนับและวัดค่าตัวแปรออกมาในรูปของข้อมูลเชิงปริมาณ มุ่งหาข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงปริมาณ เน้นการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบ และใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบปัญหาวิจัย โดยมีการใช้เครื่องมือที่มีความเป็นปรนัยในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น แบบสอบถาม แบบทดสอบ การทดลอง เป็นต้น  และ/หรือ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต้องการศึกษาตามธรรมชาติที่เป็นจริงในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นความรู้สึกนึกคิด ความหมาย ค่านิยม มุ่งการค้นหาประเด็นปัญหาทางสังคม เพื่อหาความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์กับสภาพแวดล้อม ซึ่งมักเป็นข้อมูลเชิงคุณลักษณะหรือข้อความบรรยายลักษณะ มากกว่าที่จะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ นักวิจัยเองเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการวิจัยและใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการเป็นวิธีการหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลและเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ตีความ และสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) เพื่อตอบปัญหาวิจัย  

นอกจากนี้ สมาชิกในชุมชนปฏิบัติเห็นว่าการวิจัยทางด้านคริสตศาสนศาสตร์ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาองค์ความรู้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเน้นที่กระบวนการค้นหาความจำเป็นพื้นฐานของการศึกษาในเชิงศาสนศาสตร์ และการทำงานในพันธกิจต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยสมาชิก CoP ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า แนวทางที่เหมาะสมในการทำวิจัยด้านคริสตศาสนศาสตร์ควรเริ่มต้นจากการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความเข้าใจผิดทางด้านศาสนศาสตร์ หรือข้อพระธรรมคนมักตีความผิด ใช้ผิด หรือข้อพระธรรมที่เข้าใจยาก หรือหากเป็นด้านพัฒนาพันธกิจคริสเตียนก็จะมีลักษณะคล้ายกับแนวคิดการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการวิจัยที่สำคัญจากการตั้งคำถามที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยแบบวิชาการไปสู่ในรูปแบบการทำงานวิจัยในชุมชนกลุ่มเป้าหมาย อันได้แก่ คริสตจักร พันธกิจ หน่วยงานคริสเตียน และชุมชน

กล่าวโดยสรุป กระบวนการและแนวทางการทำวิจัยด้านคริสตศาสนศาสตร์ ควรเริ่มจากการตั้งโจทย์วิจัยซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น ปัญหาด้านการตีความทางศาสนศาสตร์ ปัญหาความเข้าใจที่ผิดพลาด ปัญหาในเชิงศาสนศาสตร์ที่เข้าใจยาก ส่วนด้านพันธกิจคริสเตียน เช่น จัดการเรียนรู้ด้านคริสเตียนศึกษา ปัญหาด้านการอภิบาลสมาชิกในมิติใหม่ ๆ การให้คำปรึกษา ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรและชุมชน ปัญหาด้านการนมัสการและศาสนพิธี ปัญหาด้านการบริหารคริสตจักร ฯลฯ  เป็นต้น โดยการทำวิจัยในลักษณะดังกล่าว กำหนดให้คริสตจักร พันธกิจ หน่วยงานคริสเตียน เป็นเจ้าของปัญหา ต้องการแก้ปัญหาและจะเป็นผู้ที่จะใช้ผลงานวิจัยเป็นผู้ร่วมกันตั้งโจทย์วิจัย โดยผ่านกระบวนการพูดคุย การประชุม การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลายครั้งจนชัดเจนในประเด็น หรือเรียกว่า “การตลกผลึกทางความคิด” และเห็นปัญหาร่วมกัน นักวิจัยและคริสตจักรเป็นผู้ลงมือวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบ อาจใช้การศึกษาเอกสาร การทดลอง ประเมิน การวิจัยปฏิบัติการ ในลักษณะดังกล่าวนี้ความรู้ที่ค้นพบในพื้นที่ปัญหาหรือชุมชน (คริสตจักร) จึงจะเป็นงานวิจัยที่ผู้สร้างความรู้คือผู้ใช้ และผู้ใช้คือผู้สร้างความรู้ในตัวคนเดียวกัน (Presumes) แนวปฏิบัติที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นข้างต้นสมาชิก CoP จะนำไปพัฒนาคู่มือการวิจัยด้านคริสตศาสนศาสตร์ต่อไปในปีการศึกษา 2564


เอกสารอ้างอิง

เทียนฉาย  กีระนันทน์. (2541). สังคมศาสตร์วิจัย (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บุญธรรม  กิจปรีดาบริสุทธิ์. (2540). ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: เจริญผล.

นิศา  ชูโต. (2551). การวิจัยเชิงคุณภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 4).  กรุงเทพฯ: พริ้นต์โพร.

สุชาติ  ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. (2544). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 11). กรุงเทพฯ: เฟื่องฟ้า พริ้นติ้ง.

สุวิมล ว่องวาณิช. (2563). การวิจัยการออกแบบทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Creswell, J. W. (2008).  Research Design: Qualitative and quantitative approaches. CA: Sage.

Kogut, B. (2001). Methodological contributions in international business and the direction of academic research activity. In A. Rugman, & T. Brewer (Eds.), The Oxford handbook of international business (pp. 785–817). UK: Oxford University Press.

McGrath, J. E., & Brinberg, D. (1983). External validity and the research process: A comment on the Calder/Lynch dialogue. Journal of Consumer Research, 10(1), 115–124.